ดูแลผู้สูงอายุอย่างไรให้เป็นสุข
ดูแลผู้สูงอายุอย่างไรให้เป็นสุข
อาจกล่าวได้ว่า อาชีพหนึ่งที่ครอบครัวส่วนใหญ่มองหาเมื่อมีญาติผู้ใหญ่เริ่มแก่ชรานั่นก็คือ “ผู้ช่วย-ผู้ดูแลผู้สูงอายุ” และสถานที่ที่สร้างความหดหู่ได้ไม่น้อย เมื่อคนชราผู้ถูกทอดทิ้งต้องมารวมตัวกันที่ “บ้านพักคนชรา” ซึ่งหลายคนที่รับรู้เรื่องราวต่างๆนานาของผู้สูงอายุก็อดรู้สึกสะเทือนใจกันทั่วหน้า
       
       ทั้งนี้ การที่ผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย จะไม่กลายเป็นผู้ถูกทอดทิ้งนั้นขึ้นอยู่กับลูกๆหลานๆด้วย ว่ามีจิตสำนึกมากน้อยแค่ไหน ดูแลพวกท่านด้วยเงินอย่างเดียวใช่หรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้ ทางทีมงานได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ที่อยู่ดูแลไม่ใช่แค่ญาติผู้ใหญ่ของตนเองเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงผู้สูงอายุท่านอื่นๆด้วย นั่นก็คือ “แก้ว-สุภาพร สงวนวงศ์”
       
       สุภาพรเล่าว่า โดยส่วนตัวแล้ว เวลาได้ยินข่าวผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง รู้สึกเศร้าใจและเห็นใจมากว่า ทำไมลูกหลานถึงทิ้งพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ได้ลงคอ
       
       “ทุกครั้งที่ได้ยินข่าวผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งบ้าง ถูกทำร้ายบ้าง รู้สึกสงสาร และเห็นใจมาก ทั้งๆที่พวกเขาไม่ใช่ญาติเรา และอดรู้สึกไม่พอใจกับคนที่ทอดทิ้งไม่ได้ แต่เชื่อว่า ใครทำอะไรไว้ก็ได้อย่างนั้น ลูกหลานที่ทิ้งพ่อแม่ปู่ย่าตายายของตัวเอง...ทำกินไม่เจริญหรอก”
       

       เธอเสริมต่อว่า นอกจากแม่ของตัวเองแล้ว ก็มีโอกาสดูแลญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือกันมานาน ซึ่งไม่ได้รู้สึกรังเกียจอะไรเลย ทุกสิ่งที่ทำลงไปก็ทำด้วยใจ เต็มใจทำทั้งนั้น
       
       อย่างไรก็ดี แก้ว สุภาพร เผยว่า มันเป็นธรรมดาของคนแก่ที่มักชอบเล่าเรื่องเก่าๆ เล่าแล้วเล่าอีกและชอบน้อยใจลูกหลาน ซึ่งนิสัยของคนแก่เหล่านี้นี่เองที่ทำให้คนดูแลไม่ว่าจะเป็นลูกหรือหลานเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายได้
       
       “จริงๆแล้วอยากให้ทุกคนเข้าใจผู้สูงอายุ ต่อให้แต่ละคนจะมีนิสัยไม่เหมือนกัน แต่คนที่เป็นผู้น้อย เป็นลูกเป็นหลานก็ต้องคิดว่า ท่านก็เคยเลี้ยงดูเรามา เป็นร่วมโพธิ์ร่มไทรให้ครอบครัว”
       

       ทั้งนี้เธอได้แนะ กลเม็ดเคล็ดลับในการดูแลผู้สูงอายุอย่างไรให้ทั้งผู้สูงอายุและผู้ดูแลมีความสุขไปพร้อมๆกัน ซึ่งวิธีเหล่านี้ เธอมั่นใจว่าทุกคนสามารถนำไปปรับใช้กับผู้ใหญ่ที่บ้านได้อย่างไม่ยากนัก
       
       รู้จักพูด
       
       คนเราต้องร้จักคิก่อนที่จะพูด ไตร่ตรองก่อนที่จะทำ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องอยู่ดูแลผู้สูงอายุ หากคิดอะไรแล้วพูดออกมาอย่างที่คิด เรื่องบางเรื่องเขาอาจจะรับไม่ได้ คำพูดที่เราคิดว่าไม่รุนแรง แต่สำหรับคนเฒ่าคนแก่นั้นอาจจะทำให้เสียน้ำตาก็ได้
       
       “ถ้าเขากำลังเศร้าก็ต้องให้กำลังใจ ถ้าเขานั่งสมาธิไม่ได้ให้นอนทำสมาธิ ทำจิตใจให้สบาย อย่าไปยึดติด เพราะลูกเต้าก็ไม่ใช่ของเรา เราต้องให้เขารักษาสุขภาพให้ดีไม่ต้องคิดมาก” แก้วแนะ

ดูแล ′คนแก่′ อย่างไร ให้เป็นสุข
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
        รู้จักคิด
       
       เมื่อต้องดูแลผู้สูงอายุแล้ว หากไม่อยากมีปัญหาให้ทุกข์ใจทั้งสองฝ่ายคือทั้งคนแก่และคนดูแล ต้องคำนึงเสมอว่า ผู้น้อยไม่สามารถเปลี่ยนความคิดของผู้เฒ่าได้ ไม่ว่าจะอย่างไร หากท่านอะไรให้ไม่พอใจ ก็ควรใช้เหตุผลเข้าช่วย ถ้าท่านยังไม่เชื่อ หรือไม่ยอมทำตาม ในที่สุดแล้ว“ธรรมะ” จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
       
       รู้จักเงียบ
       
       ไม่ว่าเขาจะว่าอะไร คนที่ดูแลก็ไม่ควรเถียงและห้ามขึ้นเสียงเด็ดขาด ไม่ว่าจะถูกหรือผิด ต้องเข้าใจคนแก่ แม้แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เราไม่ขัดใจคนแก่
       
       และโดยธรรมชาติ คนวัยนี้ชอบคุยเรื่องความหลัง เราก็ต้องรับฟังท่านเสมอ อย่าตำหนิท่านเพราะนั่นก็คือความสุขที่ท่านอยากจะเล่าให้ลูกหลานฟัง
       
       รู้จักเอาใจ
       
       อยู่บ้านเฉยๆ อาจจำเจน่าเบื่อ ลูกหลานก็ควหากิจกรรมแก้เซ้งทำบ้าง ไม่ว่าจะเป็นอ่านหนังสือให้ฟัง เปิดเพลงหรือบทสวดมนต์ ช่วยทำงานบ้าน ซักผ้าล้างจาน หรือจะบีบนวดคลายเหงาในช่วงนอนพักกลางวันหรือก่อนนอน
       
       ถ้าอยากจะเปลี่ยนบรรยากาศก็อาจพาขับรถชมวิว ทำบุทญที่วัด หรือพาไปทานอาหารที่ร้านอร่อยๆ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ต่ออายุทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อย
       
       รู้จักเด็ก รู้จักผู้ใหญ่
       
       ประการสุดท้ายที่สุภาพรย้ำไม่แพ้ประการอื่นคือ ลูกๆหลานๆและคนในครอบครัว ที่เปรียบเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงหัวใจเป็นอย่างดีสำหรับปู่ย่าตายาย ดังนั้น ลูกๆทุกคนควรพาหลานๆไปเยี่ยมเยียนท่านบ้าง หรือไม่ก็หากิจกรรมทำร่วมกันทั้ง 3 รุ่น เพราะคนแก่หลายคนที่เฝ้ารอลูกหลานมาหา แต่รอแล้วรอเล่าก็ไม่มีวี่แววที่จะมา มันก็เป็นธรรมดาที่พวกท่านจะไม่มีแรงและกำลังที่จะอยู่ต่อไป
       
       ดังนั้นลูกๆหลานอย่ามองข้ามความรักของปู่ย่าตายายนะคะ ไม่ว่าจะอย่างไรขอให้คำนึงไว้ว่าพวกท่านก็เปรียบเหมือนไม้ใกล้ฝั่งแล้ว เราที่เป็นลูกเป็นหลานก็ควรตอบแทนบุญคุณท่านให้เต็มที่นะคะ^^